วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2553

ประสบการณ์จริง กับการเลิกบุหรี่

ปัจจุบัน มีหน่วยงานจำนวนไม่น้อยที่รณรงค์ให้ผู้คนเลิกสูบบุหรี่ โดยได้ชี้ให้เห็นถึงพิษภัยของบุหรี่ ว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสุขภาพ ทำให้ร่างกายทรุดโทรม และอาจต้องเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตด้วยโรคร้ายต่าง ๆ เช่น ถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ มะเร็งปอด โรคในช่องปาก หลอดลมอักเสบ ฯลฯ

ผู้ เขียนเชื่อว่าผู้ที่ติดบุหรี่ส่วนใหญ่ต่างทราบดีอยู่แล้วว่า บุหรี่มีพิษภัยร้ายแรงและส่งผลเสียต่อสุขภาพ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ด้วยเหตุที่บุหรี่มีฤทธิ์เสพติดสูงมาก สูงพอ ๆ กับเฮโรอีน จึงทำให้ผู้ติดบุหรี่เลิกสูบได้ยาก ถึงแม้จะทราบดีถึงพิษภัยอันร้ายแรงต่าง ๆ และได้พยายามเลิกแล้วก็ตาม และด้วยเหตุที่บุหรี่ออกฤทธิ์เสพติดสูงนี่เอง จึงทำให้ผู้ที่ลองสูบเล่น ๆ กลายเป็นคนติดบุหรี่ไปในที่สุด ดัง นั้น ก่อนที่จะเขียนต่อไปเกี่ยวกับคำแนะนำในการเลิกสูบบุหรี่ ก็อยากจะฝากเตือนไปยังผู้ที่ริจะลองสูบบุหรี่ด้วยความหลงเข้าใจผิดว่าโก้เก๋ ดูเป็นศิลปิน หรือทดลองดูนิดหน่อยไม่เป็นไร ว่าอย่าลองดีกว่า เพราะเมื่อเริ่มสูบบุหรี่แล้ว มวนแรกอาจจะรู้สึกขื่นและสำลักควัน ก็จะแก้ตัวด้วยมวนที่สองและตามด้วยมวนที่สาม หลังจากนั้น ร่างกายจะเริ่มปรับตัว สารเสพติดในบุหรี่จะออกฤทธิ์ กระตุ้นให้เราสูบมากขึ้น ๆ บาง คนซื้อบุหรี่มาซองหนึ่ง คิดว่าจะสูบเพียงสองหรือสามมวนแล้วทิ้ง พอสูบเข้าจริง ๆ ก็สูบจนหมดซอง บางครั้งไม่ได้ตั้งใจว่าจะสูบให้หมดซอง แต่ฤทธิ์ของสารเสพติดในบุหรี่พาเราไปโดยไม่รู้ตัว คิดแต่เพียงว่าสูบให้หมด ๆ ไป หมดซองแล้วก็เลิก ความจริงมันจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อสูบจนหมดซอง อาการเสพติดจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ (อย่างไม่รู้ตัว) ทำให้ไม่อยากเลิก หาก เข้าไปอยู่ในกลุ่มเพื่อนฝูงที่สูบบุหรี่ ก็จะเกิดความอยากที่จะสูบอีก หรือถ้าได้เข้าวงสังสรรค์ที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะพาให้กลับไปสู่วังวนของการสูบบุหรี่ได้ง่าย

การจะเลิกสูบบุหรี่ให้สำเร็จได้ ต้องมีความตั้งใจมั่นที่จะเลิก ไม่เช่นนั้นไม่มีทางเลิกได้ หลายคนพยายามเลิกแต่ไม่สำเร็จ ส่วน ใหญ่แล้ว ก่อนเลิกก็มักจะสูบมวนสุดท้ายด้วยสติพิจารณาถึงพิษภัยของมัน อัดควันเข้าปอดให้เต็มที่ แล้วพูดกับตัวเองว่า มวนสุดท้าย..จบกัน แต่พอหลังจากผ่านไปหนึ่งถึงสองชั่วโมง ความอยากบุหรี่ก็จะเกิดขึ้นดั่งที่เคยเป็น และอาการอยากบุหรี่ก็จะรุนแรงขึ้นตามลำดับ มา ถึงจุดนี้ หากผู้ติดบุหรี่ไม่มีความเข้าใจถึงอาการถอนยา (อาการที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายหลังจากหยุดบุหรี่) หรือไม่มุ่งมั่นพอ ก็จะแพ้ใจตนเองและกลับไปสูบใหม่ หากขยำซองทิ้งไปแล้วก็จะไปตามหาว่าโยนทิ้งไปที่ไหน แล้วไปคุ้ยซองมาเปิดดูว่ายังพอเหลือเศษบุหรี่ให้สูบได้หรือไม่ หรืออาจจะไปคุ้ยในที่เขี่ยบุหรี่ ว่ามวนไหนยังสูบไม่สุดมวน หรือถ้าหาไม่ได้จริง ๆ เพราะว่าได้นำบุหรี่ทั้งซองไปแช่น้ำจนเปียกก่อนขยำทิ้ง (ความมุ่งมั่นแต่แรกมีมาก) ก็จะออกไปซื้อมาสูบใหม่ บุหรี่หาซื้อได้ง่าย ร้านสะดวกซื้อเปิดตลอด 24 ชั่วโมง และหลังจากที่ได้กลับมาอัดควันบุหรี่เข้าเต็มปอดสมใจอยากแล้ว ก็อาจจะสำนึกเสียใจ แล้วก็หาคำแก้ตัวให้กับตัวเอง เช่น “ไม่เป็นไร เริ่มต้นเลิกใหม่” หรือ “ไม่เป็นไร อย่างน้อยก็ได้พยายามแล้ว” หรือ “ไว้รอช่วงโน้นช่วงนี้ค่อยเลิกดีกว่า ช่วงนี้งานเยอะ เลิกยาก” ฯลฯ อะไรทำนองนี้ เป็นต้น ผู้เขียนจึงอยากจะย้ำว่าบุหรี่ออกฤทธิ์เสพติดรุนแรงมาก ถ้าไม่เคยสูบอย่าไปลอง เพราะติดแล้วเลิกยากจริง ๆ

ผู้เขียนสูบบุหรี่มวนแรกตั้งแต่อายุยังไม่ถึงสิบขวบ ลองสูบเล่น ๆ เพราะเคยเห็นผู้ใหญ่เขาสูบ ก็อยากจะรู้บ้างว่าสูบแล้วเป็นอย่างไร พอดีคนงานมาซ่อมบ้าน เขาทิ้งบุหรี่ไว้จึงไปเปิดซองหยิบมาจุดสูบ ยืนสูบอยู่ริมถนนหลังบ้าน ไม่ได้แอบสูบ แต่สูบแบบเปิดเผย เพื่อนบ้านเดินผ่านมาเห็นเข้าก็ดุเอา ว่าตัวแค่นี้สูบบุหรี่แล้วหรือเนี่ย ตอนนั้นไม่ได้รู้สึกว่าตนทำผิดอะไร ก็เคยเห็นผู้ใหญ่เขาสูบจึงอยากจะลองดูบ้าง เท่านั้นเอง สูบ ๆ หยุด ๆ เล่นไปเล่นมา ไปติดเอางอมแงมเมื่ออายุสิบสีขวบ ราย ได้ก็ยังไม่มีเพราะเรียนหนังสืออยู่ อาศัยเงินพ่อแม่ให้เป็นค่าขนม ก็แบ่งไปซื้อบุหรี่ทุกวันโดยที่พ่อแม่ไม่ทราบ ซื้อปลีกวันละสามมวนบ้าง ห้ามวนบ้าง สมัยก่อนร้านโชวห่วยเขาแกะซองขาย ห้ามวนสองบาท ตอนหลัง ๆ ขึ้นราคามาเป็นสามมวนสองบาท ก็ซื้อสูบตามปริมาณเงินในกระเป๋าที่มี ความจริงอาการอยากบุหรี่จะเกิดทุก ๆ ชั่วโมง แต่ที่ต้องแบ่งระยะให้ห่างเพราะบุหรี่มีน้อย ต้องแบ่งให้พอสูบในแต่ละวัน ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็ไถบุหรี่เพื่อน เขาจะแซวกันว่าเป็นบุหรี่ตรา “ไถ” (ไม่ใช่ตรา “คันไถ” แต่หมายถึง “รีดไถ”) ตั้งแต่ เรียนหนังสือก็สูบมาเรื่อยจนกระทั่งเรียนจบ เข้าทำงานก็ยังสูบต่อ สูบมากขึ้นไปอีกเพราะหาเงินเองได้แล้ว จากที่เคยซื้อแบบแกะซองขาย ก็เปลี่ยนมาซื้อทั้งซอง พอซื้อบ่อย ๆ เข้าก็ชักรำคาญที่ ต้องเดินไปซื้ออยู่เรื่อย ก็เปลี่ยนมาซื้อเป็นห่อ ห่อละสิบซอง ไป ๆ มา ๆ จากที่ซื้อครั้งละห่อ ก็กลายเป็นซื้อครั้งละหลาย ๆ ห่อ โดยเฉพาะบุหรี่ยี่ห้อต่างประเทศ ฝากเพื่อนซื้อจึงซื้อคราวละมาก ๆ มาเก็บตุนไว้แล้วค่อย ๆ สูบไป ยังดีที่เลิกได้ ไม่เช่นนั้นคงซื้อยกลังจากโรงงานยาสูบโดยตรง
จาก ที่เริ่มต้นสูบวันละสองหรือสามมวน เวลาผ่านไปเกือบยี่สิบปี สุดท้ายก่อนตัดสินใจเลิก เป็นช่วงที่สูบบุหรี่วันละสองซองเป็นอย่างน้อย (40 มวน minimum) ช่วงนั้นร่างกายรับไม่ไหวแล้ว ไม่สบายบ่อย (ก็น่าจะเป็นเช่นนั้นเพราะดันสูบเข้าไปได้ วันละไม่ต่ำกว่า 40 มวนทุกวัน ๆ) จำได้ว่าตอนที่ตัดสินใจเลิกนั้น เป็นเวลาเย็นกลับจากทำงาน ภรรยาได้มาขอร้องให้เลิกบุหรี่ (หลังจากได้ขอร้องมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน) ภรรยาได้พูดถึงลูกซึ่งขณะนั้นอายุได้ขวบเศษ ว่าต่อไปคงกำพร้าพ่อ เพราะพ่อจะเป็นมะเร็งตายเสียก่อนลูกโต หรือหากไม่ตาย ก็คงเป็นโรคถุงลมโป่งพอง นอนพะงาบ ๆ ทำงานทำการไม่ได้ และในวันหนึ่งข้างหน้า ลูกก็คงติดบุหรี่เหมือนพ่อ จะไปห้ามลูกก็ไม่ได้ในเมื่อพ่อยังสูบเป็นตัวอย่างให้เห็น ฯลฯ หลัง จากจบปาฐกถาในเย็นวันนั้นแล้ว ผู้เขียนก็ได้ใคร่ครวญและเห็นจริงตามที่ภรรยาว่า จึงตัดสินใจเลิกบุหรี่ทันที โดยไม่มีการสั่งลาด้วยมวนสุดท้ายเหมือนเช่นทุก ครั้งที่เคยพยายามเลิก

หลังจากที่ผ่านคืนแรกแห่งการไม่สูบบุหรี่
ไปได้ด้วยความมุ่งมั่น วันรุ่งขึ้นก็ไปทำงาน ปรากฏว่ามีอาการผิดปรกติเกิดขึ้นกับร่างกายมากมาย เริ่ม จากอาการไม่มีแรง แขนขาแข็ง ไม่กระฉับกระเฉงว่องไวเหมือนเช่นทุกวัน ล้างหน้าแปรงฟันอาบน้ำเช้าแล้ว ก็ไม่รู้สึกสดชื่น ขี้ตาเขรอะ น้ำมูกน้ำตาไหลซึม หาวนอนตลอดเวลา พูดเสียงอู้อี้เหมือนคนเป็นหวัด ดื่มกาแฟแล้วก็ไม่ดีขึ้น ขับรถไปทำงานก็ขับสะเปะสะปะ เกือบจะไปเบียดกับรถคันอื่นตั้งหลายครั้ง พอ ไปถึงที่ทำงาน ก็มีอาการหัวตื้อ คิดอะไรไม่ออก นึกไม่ออกว่ามีงานค้างอะไรที่ต้องทำต่อจากเมื่อวานนี้บ้าง หรือมีงานด่วนอะไรบ้างที่ต้องรีบทำ เริ่มต้นไม่ถูกเลย เหมือนคนไม่มีสมาธิในการทำงาน เพื่อนที่ทำงานมา ปรึกษาเรื่องงาน ก็ได้แต่มองหน้า ได้ยินเขาพูดแต่ไม่ได้ฟัง นึกไม่ออกว่าจะให้คำแนะนำอย่างไร บางครั้งต้องขอให้เขาพูดซ้ำใหม่ และกว่าเราจะตอบเขาได้ก็ลำบากยากเย็น น้ำเสียงก็อู้อี้เหมือนคนเอามืออุดจมูกพูด จุก เสียดแน่นท้องแน่นหน้าอกเหมือนคนเรอไม่ออก เวลาลุกเดินก็เหมือนคนไม่มีแรง ก้าวขาไม่ค่อยจะออก ปวดตามเนื้อตามตัว บางครั้งก็ปวดจี๊ดที่ขมับ ปวดหนึบ ๆ บริเวณขอบตาด้านบน ฯลฯ สรุปแล้ว วันแรกที่เลิกบุหรี่ ทำงานไม่ได้เลย เหมือนคนครึ่งหลับครึ่งตื่น ไม่มีสมาธิในการทำงานเอาเสียเลย แต่ก็ยังใจแข็งพอ ที่จะไม่ออกไปซื้อหาบุหรี่มาสูบเพื่อให้ทำงานได้ตามปรกติ ตกเย็นกลับถึงบ้านก็ดีใจที่หยุดบุหรี่มาได้ (ตั้ง) ยี่สิบสี่ชั่วโมง

เริ่มต้นวันที่สอง ตื่นขึ้นมาก็เกิดอาการลุกไม่ขึ้น หนาวเหมือนคนเป็นไข้ แต่ไม่มีไข้ ตัวไม่ร้อน ต้องนอนห่มผ้าทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เปิดเครื่องปรับอากาศ วันนี้ไปทำงานไม่ได้ เพราะเดินไม่ไหว หนาวสั่น ปวดตามเนื้อตามตัวมาก ขยับแขนขาก็ลำบาก ไม่มีแรง ได้แต่นอนนิ่ง ๆ อยู่กับที่ วันนี้หลับลึกทั้งวัน เลยไม่ได้นึกถึงบุหรี่
วันที่สาม รู้สึกเหมือนคนเพิ่งฟื้นไข้ แต่ยังปวดตามเนื้อตามตัวอยู่บ้าง และพูดเสียงอู้อี้เหมือนคนเป็นหวัด มีน้ำมูกน้ำตาไหล แต่เริ่มมีแรงเดินไปไหนมาไหนได้แล้ว จึงกลับเข้าที่ทำงานช่วงบ่าย ความรู้สึกอยากบุหรี่ยังไม่ได้หมดไป ตรงกันข้าม กลับรู้สึกว่าพอกันที ขอกลับไปสูบเหมือนเดิมดีกว่าจะได้มีสมาธิทำงานได้ตามปรกติ แต่เนื่องจากว่า ได้โละที่เขี่ยบุหรี่และบุหรี่ทิ้งตั้งแต่วันแรกแล้ว จะกลับไปซื้อมาสูบใหม่ก็ยังลังเลใจเพราะได้รับปากกับภรรยาไว้ พอ ไปถึงที่ทำงานก็เดินป้วนเปี้ยนอยู่บนอาคารจอดรถ ตาก็เหลือบไปเห็นก้นบุหรี่ที่เขาโยนทิ้งไว้กับพื้น สูบไปได้ครึ่งเดียว ยังเหลืออีกครึ่ง จึงก้มลงไปเก็บมาจุดสูบ ปรากฏว่า หลังจากหยุดบุหรี่มาเกือบสามวันเต็ม พอกลับไปสูบใหม่ รสชาติมันไม่เหมือนกับที่เคยสูบเสียแล้ว รู้สึกว่าเหม็นมาก พออัดควันเข้าไปก็มึนหัวจนยืนไม่ไหว สูบได้สองคำเลยโยนทิ้ง แล้วก็รู้สึกสมเพชตนเองที่มาเดินเก็บก้นบุหรี่ ที่คนอื่นเขาทิ้งไว้มาสูบ จึงตัดสินใจแน่วแน่อีกครั้งว่าจะต้องเลิกให้ได้

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ร่างกายก็ค่อย ๆ ปรับตัว เริ่มกลับมาสดชื่น มีสมาธิ กระฉับกระเฉงดังเดิม โดยไม่ต้องพึ่งพาบุหรี่ และยิ่งกว่านั้น กลับรู้สึกว่าร่างกายมีเรี่ยวแรงดี ไม่เหนื่อยง่าย ดีกว่าเมื่อครั้งที่ยังติดบุหรี่มาก ผู้ เขียนจำได้ว่าใช้เวลาประมาณสองถึงสามสัปดาห์ กว่าจะลืมบุหรี่ได้สนิท และสามารถปฏิเสธบุหรี่ได้ถึงแม้จะมีคนรอบข้างมายืน สูบให้เห็นหรือยื่นบุหรี่ให้ก็ตาม ส่วนอาการถอนยา นั้น จะรุนแรงเฉพาะในช่วงสามถึงห้าวันแรกเท่านั้น ระดับความรุนแรงของอาการก็ขึ้นอยู่กับว่าสูบมานานแค่ไหน และปริมาณการสูบมากน้อยเพียงใด

จาก การที่เลิกบุหรี่ได้สำเร็จนี่เอง จึงทำให้สามารถนำประสบการณ์และคำแนะนำดี ๆ มาเล่าสู่กันฟัง เผื่อว่าท่านที่กำลังเลิกบุหรี่จะได้นำไปประยุกต์ใช้ อาจจะช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น

สรุปได้ว่า เมื่อเริ่มต้นหยุดบุหรี่ จะ เกิดอาการถอนยารุนแรงในช่วงสามถึงห้าวันแรก หลังจากผ่านช่วงนี้ไปแล้ว ก็ถือเป็นช่วงที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะร่างกายยังไม่กลับสู่ภาวะปรกติเสียที เดียว ในช่วงสัปดาห์ที่สอง จะมีอาการหงุดหงิดง่าย เจ้าอารมณ์ ส่วนสมาธิในการทำงานก็ยังไม่นิ่ง พอเข้าสัปดาห์ที่สาม ทุกอย่างก็จะเริ่มดีขึ้น ๆ ตามลำดับ

การ ที่จะเลิกบุหรี่ได้สำเร็จหรือไม่นั้น อยู่ที่ความตั้งใจมั่นของผู้ติดบุหรี่เป็นตัวชี้ขาด ผู้สูบบุหรี่เป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะเลือกติดบุหรี่ต่อไป หรือเลือกที่จะใช้ชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งพาบุหรี่ การ ใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องพึ่งพาบุหรี่นั้น นอกจากจะทำลายสุขภาพของผู้สูบและคนรอบข้างไปทุกวัน ๆ แล้ว ยังเป็นการดำเนินชีวิตที่น่ารำคาญอย่างยิ่ง ต้องอาศัยบุหรี่ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน ไม่ ว่าจะเป็นเวลาก่อนอาหาร หลังอาหาร ก่อนเข้าห้องน้ำ หลังเข้าห้องน้ำ ก่อนเริ่มทำงาน หลังจากเลิกงาน และแม้แต่ระหว่างเวลาทำงานก็ยังต้องหลบไปสูบบุหรี่ ก่อนจะขึ้นรถ ลงจากรถ ฯลฯ ไม่ว่าจะทำอะไร ที่ไหน ก็ต้องหาโอกาสสูบบุหรี่ทุกครั้งไป บางคนไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจริมทะเลหรือบนภูเขา แทนที่จะไปสูดอากาศบริสุทธิ์ให้เต็มปอด กลับไปสูดควันบุหรี่แทน บางคนไปออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา แต่หลังจากออกกำลังกายเสร็จก็หยิบบุหรี่ขึ้นมาสูบ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า แค่เพียงเลิกบุหรี่ สุขภาพก็ดีขึ้นแล้ว แต่ถ้ายังติดบุหรี่อยู่ ก็มองไม่เห็นว่า จะเกิดประโยชน์อันใดจากการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเลย นอก จากความตั้งใจที่มุ่งมั่นว่าจะเลิกบุหรี่แล้ว ผู้เขียนมีคำแนะนำเพิ่มเติมให้ลองปฏิบัติดู เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์และช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ง่ายไม่ทรมานจนเกินไป ดังนี้

  • การเลิกบุหรี่ให้สำเร็จนั้น ควรจะหยุดสูบในทันที หรือที่เรียกกันว่า “หักดิบ” คนส่วนใหญ่ที่พยายามเลิกบุหรี่ด้วยการสูบให้น้อยลงนั้น ในที่สุดจะกลับไปสูบมากขึ้นอย่างเดิม หรือสูบมากกว่าเดิมเสียอีก (ชดเชยช่วงที่ไม่ได้สูบ)
  • ดื่มน้ำให้มาก ๆ หลังปัสสาวะทุกครั้ง ให้ดื่มน้ำตามไปทีละสองแก้ว น้ำจะช่วยร่างกายขับสารนิโคตินและช่วยลดความอยากบุหรี่ลง
  • ในเวลาที่เกิดอาการอยากบุหรี่มาก ๆ การอาบน้ำหรือแช่น้ำ จะช่วยลดความอยากบุหรี่ลงได้
  • รับประทานผักผลไม้ให้มาก ๆ คนที่ติดบุหรี่นั้น เวลาเข้าห้องน้ำทำกิจธุระก็ต้องสูบบุหรี่ไปด้วย พอหยุดสูบก็จะมีอาการท้องผูก ไม่ขับถ่าย ดัง นั้น จึงควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย มีใยอาหารมาก และรับประทานเนื้อสัตว์ให้น้อยลง ก็จะช่วยทำให้ระบบขับถ่ายของเสียทำงานได้ตามปรกติ
  • ออกกำลังกายควบคู่ไปด้วยในช่วงสามสัปดาห์แรก ผู้เขียนได้เคยพยายามเลิกบุหรี่มาหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ ครั้งหลังสุดที่ทำได้สำเร็จนี้ ก็อาศัยการออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย คือเมื่อผ่านสามวันแรกไปด้วยความยากลำบากแล้ว พอเข้าวันที่สี่ก็เริ่มต้นออกกำลังกายด้วยการวิ่ง วิ่งครั้งแรกได้ระยะทางสามร้อยเมตรก็เหนื่อยหอบแล้ว แต่ก็อดทนวิ่งต่อโดยวิ่งช้า ๆ วิ่งครั้งแรกได้ห้านาที วันต่อ ๆ มาก็วิ่งให้นานขึ้น โดยอาศัยหลักการวิ่งแบบแอโรบิค คือ วิ่งช้า ๆ แต่วิ่งนาน ๆ ทั้ง นี้ เพื่อกระตุ้นหัวใจให้ทำงาน กระตุ้นปอดให้ทำงาน กระตุ้นเซลล์ต่าง ๆ ให้ทำงาน หลังจากที่ถูกสารพิษของบุหรี่ครอบงำมาเป็นเวลาอันยาวนาน การ ออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬาควบคู่ไปด้วยนั้น จะช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น เพราะนอกจากร่างกายจะหยุดพฤติกรรมในด้านลบ (คือหยุดการสูบบุหรี่) ยังกระตุ้นพฤติกรรมในด้านบวกด้วย (คือการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬา) สำหรับผู้เขียนนั้น จากคนที่เคยวิ่งได้ระยะทางสั้น ๆ เพียงสามร้อยเมตรก็เหนื่อย ปัจจุบัน สามารถวิ่งเป็นระยะทางสิบกิโลเมตร อย่างต่อเนื่องโดยไม่รู้สึกเหนื่อย เมื่อ ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง การทำงานต่าง ๆ ก็มีประสิทธิภาพดีขึ้น สามารถนำร่างกายที่แข็งแรงนี้ ไปทำคุณประโยชน์ช่วยเหลือผู้อื่นได้อีกด้วย เช่นการบริจาคโลหิต ซึ่งเมื่อครั้งติดบุหรี่ จะไม่สามารถทำได้เพราะร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง
  • หาตัวอย่างดี ๆ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว พยายามนึกถึงคนดี ๆ คนเก่ง ๆ ที่เขาไม่สูบบุหรี่เป็นตัวอย่าง เพราะ เมื่อเรานึกถึงคนเหล่านี้ เราก็จะรู้สึกว่า เขาเก่งเขาดีเขาเท่ห์ได้โดยไม่เห็นต้องพึ่งพาบุหรี่เลย นอกจากนี้ คนเก่งเหล่านี้ยังต่อต้านการสูบบุหรี่เสียด้วยซ้ำไป แต่ถ้าภาพในอุดมคติของเรา ยังเป็นภาพเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ที่คาบบุหรี่ติดปาก หรือภาพของศิลปินที่ติดเหล้าติดบุหรี่ ก็คงไม่ช่วยกระตุ้นให้เราคิดจะเลิกบุหรี่เท่าใดนัก
  • ผู้ เขียนเคยใช้หมากฝรั่งซึ่งมีส่วนผสมของนิโคติน ช่วยในการเลิกบุหรี่อยู่เหมือน กัน โดยใช้ในช่วงสัปดาห์ที่สองหลังจากผ่านระยะถอนยาไปแล้ว ทั้งนี้เพื่อช่วยทุเลาอาการอยากบุหรี่ที่คอยรบกวนสมาธิในการทำงาน แต่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง มิฉะนั้น พอเลิกบุหรี่ได้ จะไปติดหมากฝรั่งผสมนิโคตินแทน ความตั้งใจแน่วแน่ที่จะเลิกบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เลิกบุหรี่ได้ ผู้ เขียนเคยพยายามเลิกบุหรี่หลายครั้ง พอเริ่มต้นเลิก ก็หยิบเอาหมากฝรั่งผสมสารนิโคตินมาเคี้ยว เคี้ยวแล้วก็กลับไปสูบบุหรี่อีกเหมือนเดิม เพราะอย่างไรเสีย รสชาติของหมากฝรั่งก็ไม่เหมือนรสชาติของบุหรี่ แต่หากตั้งใจจริงที่จะเลิกสูบแล้ว ก็ต้องเลิกได้ หมากฝรั่งเพียงช่วยบรรเทาอาการทุรนทุรายลงบ้างเท่านั้นเอง
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ คน ที่เลิกบุหรี่ได้จำนวนไม่น้อยที่กลับไปติดบุหรี่อีก มาจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น ประสบปัญหาในหน้าที่การงาน ปัญหาครอบครัว ท้อแท้ เหงา ไม่มีเพื่อนฯลฯ คิดไปเองว่าตนเองไม่มีคุณค่า จึงหันหน้าเข้าหาเหล้าเบียร์เพื่อให้ลืมปัญหาต่าง ๆ บางคนไม่มีปัญหา แต่ชอบสังสรรค์ ซึ่งโดยทั่วไปก็มักจะดื่มเหล้าดื่มเบียร์ด้วย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้นความอยากบุหรี่ได้เป็นอย่างดี พอเหล้าเบียร์เข้าปาก ก็ทำให้อยากบุหรี่ สังสรรค์บ่อยเข้าก็กลับไปติดบุหรี่อย่างเดิม ผู้ เขียนเอง ถึงแม้จะเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จอยู่นาน แต่ก็กลับไปติดอีกอยู่หลายครั้งเพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พาไป พอติดแล้วก็เลิกยาก ต้องเริ่มต้นใหม่เหมือนเมื่อเริ่มต้นเลิกบุหรี่ครั้งแรก ต้องผ่านระยะเวลาถอนยา สามถึงห้าวันแรก ซึ่งทรมานมาก เพราะทำงานไม่ได้ดั่งใจ ผิดพลาดบ่อย สมาธิไม่ดี หงุด หงิดง่าย ทำให้คนในครอบครัวและคนรอบข้างต้องพลอยเดือดร้อนรำคาญไปด้วย ร่างกายที่เริ่มฟื้นคืนสภาพ หลังจากเลิกสูบบุหรี่ก็ถูกทำลายด้วยพิษภัยของ บุหรี่อีก บ่อย ๆ เข้าก็เลยเลิกเด็ดขาด ไม่กล้าสูบ เพราะเวลาเลิกแต่ละครั้งมันยุ่งยากทรมานจริง ๆ
  • ทำงานแต่พอสมควรและพักผ่อนให้มากขึ้น เคย พูดคุยกับหลาย ๆ คนที่ต้องการเลิกบุหรี่ แต่เลิกไม่ได้เพราะอาชีพการงานบังคับ เช่น ต้องขับรถ ถ้าหยุดสูบบุหรี่จะขับไม่ได้เลย อันนี้เป็นเรื่องจริง เพราะการหยุดสูบบุหรี่ส่งผลต่อร่างกายอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงสามถึงห้าวันแรก บางคนต้องทำงานที่ใช้สมาธิ ใช้ความคิด ความละเอียดอ่อน พอหยุดบุหรี่ สมาธิในการทำงานจะหายไปในช่วงแรก ทำให้งานผิดพลาดได้ง่าย เรื่องนี้ก็น่าเห็นใจ หากเป็นไปได้ก็หาช่วงจังหวะที่เหมาะ ลาหยุดพ่วงกับวันหยุดราชการต่อเนื่อง จะได้มีเวลานานพอสำหรับระยะถอนยา บางคนอาจจะไปฝึกกรรมฐาน ที่วัดเพื่อบังคับตัวเองไปในตัวไม่ให้แตะต้องบุหรี่ ก็เป็นวิธีการที่ดี หรือหากไม่สามารถหยุดหรือลางานได้จริง ๆ ก็ควรงดเว้นงานหนักในช่วงที่เริ่มต้นเลิกบุหรี่ แล้วเพิ่มเวลานอนพักผ่อนให้มากขึ้น
  • ผู้ที่ติดบุหรี่ เมื่อไม่ได้สูบ จะหงุดหงิดง่าย เห็นอะไรก็ขวางหูขวางตาไปหมด ใครทำอะไรให้ก็ไม่ถูกใจ คน ในครอบครัว เพื่อนฝูง ญาติมิตรหรือคนรอบข้าง ควรให้กำลังใจ เข้าใจ ให้อภัยและไม่ถือโกรธ เพราะความจริงแล้วเขาไม่ได้ต้องการจะเป็นเช่นนั้น แต่เป็นอาการปรกติของคนหยุดสูบบุหรี่ ผู้เขียนก็เช่นเดียวกัน พอไม่ได้สูบบุหรี่มาสี่หรือห้าวัน ก็เริ่มหงุดหงิด พูดจากวนประสาทภรรยาจนเกือบจะทนไม่ไหว พอออกนอกบ้านก็ไปพูดจาท้าทายคนอื่น ดีที่ไม่ถูกเขากระทืบเอา
... ก่อนจะจบ “ประสบการณ์เลิกบุหรี่” นี้ ขอนำเสนอบทความหนึ่ง ซึ่งกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อหยุดสูบบุหรี่ เห็น ว่าเป็นประโยชน์ดี จึงนำมาเล่าสู่กันฟัง เขาบอกว่า ทันทีที่ผู้สูบบุหรี่เริ่มหยุดสูบบุหรี่ จะก่อให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อร่างกาย และจิตใจดังต่อไปนี้

ภายใน 2 ชั่วโมงแรก
จะไม่มีนิโคตินหลงเหลืออยู่ในตัวอีกต่อไป แต่กว่าที่กากของนิโคตินจะถูกขจัดให้หมดสิ้นไป อาจกินเวลาถึงสองวัน
ภายใน 6 ชั่วโมง
อัตรา การเต้นของหัวใจที่เคยถูกเร่งให้เต้นถี่กว่าปรกติก็จะเต้นช้าลง และยังทำให้ความดันโลหิตที่เคยสูงเกินปรกติ ค่อย ๆ ลดลงมาเล็กน้อย แต่กว่าที่ระดับความดันโลหิตจะลดลงถึงระดับที่ควรจะเป็น อาจต้องใช้เวลา3 วันถึงหนึ่งเดือน ตามสภาพร่างกายของแต่ละคน
ภายใน 12-24 ชั่วโมง
ก๊าซ คาร์บอนมอนอกไซด์ที่จับแน่นอยู่กับเม็ดเลือดแดงจะถูกขจัดออกไป ปอดจะกลับทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนรู้สึกว่าอาการเหนื่อยหอบง่าย ๆ จะค่อย ๆ หายไป และกำลังวังชาดีขึ้น
หลายวันต่อมา
เสมหะ ที่สะสมอยู่ในปอดจะใสขึ้น แล้วในหลายสัปดาห์ต่อมา คุณก็จะไอมันออกมาได้ ขนอ่อนที่บุผนังทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นอัมพาตเพราะควันบุหรี่จะฟื้นคืนชีพ เพื่อทำงานปัดกวาดสิ่งสกปรกในหลอดลม แต่กว่าที่ขนอ่อนนับล้าน ๆ เส้นเหล่านี้จะฟื้นคืนชีพได้สมบูรณ์ ต้องใช้เวลาประมาณ 3เดือน
ภายใน 3 สัปดาห์
การทำงานของปอดจะดีขึ้น ทำให้สามารถออกกำลังกายได้มากขึ้นกว่าครั้งที่ยังสูบบุหรี่อยู่
ภายใน 3 เดือน
ระบบ การขจัดสิ่งสกปรกในปอดจะทำงานได้เป็นปรกติ ขณะเดียวกัน สำหรับผู้หยุดสูบบุหรี่ที่เป็นเพศชายนั้น ในช่วงนี้เชื้ออสุจิจะกลับเคลื่อนไหวได้ใกล้เคียงกับสภาวะปรกติ และจำนวนเชื้ออสุจิก็เพิ่มขึ้นด้วย
ภายใน 5 ปี
อัตราการเสี่ยงต่อการเกิดอาการหัวใจขาดเลือด จะลดลงจนเกือบเท่ากับคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่
ภายใน 10-15 ปี
อัตราการเสี่ยงต่อการตายด้วยโรคร้ายต่าง ๆ ที่เกิดจากบุหรี่ รวมทั้งมะเร็งปอด จะมีความใกล้เคียงกับผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่

ดังนั้น จึงไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการเลิกบุหรี่ เพราะทันทีที่เราหยุดสูบบุหรี่ ร่างกายก็จะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ผู้ ที่ติดบุหรี่และเลิกสูบในทันทีนั้น อาจจะรู้สึกทรมาน แต่ขอให้ทราบไว้เถิดว่า อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เป็นเพราะร่างกายกำลังต่อสู้กับสิ่งชั่วร้ายที่ฝังรากมานาน หากเราไม่เข้มแข็งพอและหันกลับไปสูบบุหรี่อีก ก็เท่ากับว่าเรายินยอมปล่อยให้ร่างกายถูกสิ่งชั่วร้ายนี้ครอบงำต่อไป
ผู้เขียนหวังว่า “ประสบการณ์เลิกบุหรี่” ที่ได้นำเสนอมาทั้งหมดนี้ จะเป็นประโยชน์และเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่เริ่มต้นเลิกบุหรี่ และหวังจะช่วยสะกิดใจผู้ที่ติดบุหรี่อยู่ให้เลิกบุหรี่ด้วย สาเหตุ หนึ่งที่ทำให้ผู้ติดบุหรี่ไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ ก็เพราะเขาติดอยู่กับความเคยชินในการสูบบุหรี่เสียนานจนลืมไปว่า เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ดำเนินชีวิตประจำวันได้ ทำหน้าที่การงานต่าง ๆ ได้ และมีความสุขได้ โดยไม่ต้องสูบบุหรี่ หาก เขาเพียงได้สัมผัสชีวิตใหม่ที่ไม่พึ่งพาบุหรี่แล้ว เชื่อว่าจะไม่มีใครหวนกลับไปสูบบุหรี่อีก และอีกจำนวนไม่น้อยที่จะพูดว่า รู้อย่างนี้เลิกสูบไปนานแล้ว

ขอ เป็นกำลังใจให้ท่านเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ เพื่อตัวท่านเอง เพื่อครอบครัวและคนที่ท่านรัก จะได้มีสุขภาพดี มีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณค่า ไม่ทุกข์ทรมานกับโรคภัยไข้เจ็บและจากโลกนี้ไปก่อนวัยอันควร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น